"9 มิถุนายน วันจดหมายเหตุสากล"
เผยแพร่เมื่อ: 09 มิ.ย. 68จำนวนผู้เข้าชม:33
 

"9 มิถุนายน วันจดหมายเหตุสากล"

-------------------------------------------

               สภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศ (The International Council on Archives: ICA) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2491
ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของสำนักงานองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นองค์กรกลางสำหรับการส่งเสริม
และให้ความรู้ด้านบริหารจัดการเอกสารอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารราชการแบบธรรมาภิบาล การอนุรักษ์ปกป้องรักษา และเผยแพร่มรดกด้านจดหมายเหตุของมนุษยชาติในโลก เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สภายุโรป (Council of Europe) รวมทั้งองค์กรกลางอื่น ๆ

               ต่อมา ในการประชุม ICA Annual General Meeting ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2550 จึงได้มีมติถือเอาวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันจดหมายเหตุสากล ตามวันที่จัดตั้งสภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศ เมื่อพุทธศักราช 2511

               ในปีพุทธศักราช 2568 นี้ สภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศมีการจัดกิจกรรม เช่น  นิทรรศการและเสวนาออนไลน์ เพื่อเฉลิมฉลองสัปดาห์จดหมายเหตุสากล International Archives Week 2025 (#IAW2025) ระหว่างวันที่ 9 - 13 มิถุนายน 2568 ในเรื่อง Archives are accessible – Archives for everyone (จดหมายเหตุที่เข้าถึงได้ จดหมายเหตุสำหรับทุกคน) โดยในปีนี้มุ่งเน้นไปที่ 4 หัวข้อ คือ

1. การก้าวข้ามอุปสรรคในการเข้าถึงจดหมายเหตุ (Overcoming Barriers to Archive Access) การจัดการอุปสรรค เช่น ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การขาดความตระหนักรู้ และความท้าทายทางเทคนิค ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานจดหมายเหตุ

2. การใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการเข้าถึงจดหมายเหตุ (Harnessing Technology to Enhance Access) การแสวงหาวิธีทางนวัตกรรม รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงช่องทางการเข้าถึงจดหมายเหตุให้กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น

3. จดหมายเหตุในบริบทของสังคม : การปรับมุมมอง (Archives in Society: Changing Perceptions) การปรับเปลี่ยนมุมมองในการยอมรับคุณค่าของหน่วยงานด้านจดหมายเหตุ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม

4. การมีส่วนร่วมและการดำเนินงานจดหมายเหตุอย่างเสมอภาค (Inclusion and Representation in Archival Practices) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนชายขอบ หรือผู้ที่เคยถูกละเลยในอดีตว่า ความคิดเห็นของพวกเขาจะปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุอย่างเท่าเทียม
เพื่อส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

 

หมายเหตุ : สามารถดูรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ica.org