“อธิบายเครื่องบูชา” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระภิกษุ สามเณร เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นกรณีพิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2501 และ พ.ศ. 2557
กรมศิลปากรมีธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา คือ การเปิดให้พระภิกษุ สามเณร เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดูแลหอพระสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เป็นต้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระภิกษุ สามเณรได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมหลังจากเข้าสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งกรมศิลปากรและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันถวายสิ่งของ เครื่องดื่ม กัปปิยภัณฑ์ และมีการจัดพิมพ์หนังสือองค์ความรู้เรื่องต่าง ๆ ถวายแด่พระภิกษุ สามเณรที่มาร่วมเข้าชมพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร โดยได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปีนี้จึงได้งดเว้นธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว
เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติขอนำเสนอองค์ความรู้เรื่อง “อธิบายเครื่องบูชา” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนและประเภทเครื่องบูชาที่ใช้ในประเทศสยาม จากเอกสารจดหมายเหตุ หนังสือหายาก และภาพถ่าย โดยมีเนื้อหา 2 ส่วน คือ ธรรมบรรณาการในเทศกาลเข้าพรรษา และเครื่องบูชาที่ใช้ในประเทศสยาม
----------------------------------------------------------
ธรรมบรรณาการในเทศกาลเข้าพรรษา
ใน พ.ศ.2471 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “อธิบายเครื่องบูชา” และราชบัณฑิตยสภาจัดพิมพ์ถวายเป็นธรรมบรรณาการแด่พระภิกษุ สามเณร ที่มาเยี่ยมชมหอพระสมุดวิชรญาณและพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ซึ่งต่อมาภายหลังหนังสือ “อธิบายเครื่องบูชา” ถูกจัดพิมพ์ในโอกาสต่าง ๆ เช่น พ.ศ.2473 พระโสภณอักษรกิจพิมพ์ในงานยืนชิงช้ามหาอำมาตย์ตรี พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ผ่อง โชติกะพุกกณะ) เจ้ากรมท่าซ้าย กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2505 บุตร – ธิดา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายสิทธิ์ สิริวรสาร
(ซ้าย) เอกสารส่วนบุคคล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ตำนานเครื่องบูชา
(ขวา) หนังสือ อธิบายเครื่องบูชา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบายที่มาของหนังสือ “อธิบายเครื่องบูชา” ไว้ในคำนำว่า
“เมื่องานฤดูหนาวปีนี้ การตั้งเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่และโต๊ะจีนบูชาพระศรีรัตนตรัยที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามของพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จัดมาตั้งถวายเฉลิมพระราชศรัทธากันอันมากด้วยกัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเป็นนายกกรรมการตัดสินรางวัล ได้ใช้พระราชนิยมครั้งรัชกาลที่ 5 เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจ พระราชาคณะหลายองค์แสดงความประสงค์แก่ข้าพเจ้า ว่าใคร่จะทราบลักษณะการจัดเครื่องบูชาที่ถือกันว่าเป็นแบบแผน ข้าพเจ้ารับจะแต่งอธิบายพิมพ์ถวายในวันมาชมพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อเข้าพรรษาปีนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็ทรงอนุโมทนาด้วย ข้าพเจ้าจึงได้แต่งหนังสือนี้ขึ้น เสียดายอยู่หน่อยที่ประจวบธุระอื่นพัวพัน พึ่งได้ลงมือแต่งเมื่อจวนจะเข้าพรรษาอยู่แล้ว จึงกล่าวความได้แต่โดยย่อพอให้ได้ประโยชน์ทันการ”
หนังสือ “อธิบายเครื่องบูชา” จึงนับเป็นเอกสารประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่มีประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า อ้างอิงเกี่ยวกับชื่อเรียก ลักษณะการจัดเครื่องบูชาแต่ละประเภท และวิธีการตัดสินการประกวดตั้งโต๊ะเครื่องบูชา โดยในส่วนนำของหนังสือได้กล่าวว่า ตามแบบแผนทั่วไปนั้นเครื่องบูชาของไทยจะใช้ของ 4 อย่างเป็นหลัก คือ เทียน 1 ธูป 1 ข้าวตอก 1 ดอกไม้ 1 ซึ่งเครื่องบูชาทั้ง 4 อย่าง ที่ไทยใช้ก็ปรากฏในตำราโบราณของพราหมณ์ในมัชฌิมประเทศด้วยเช่นกัน ข้อสังเกตอีกประการคือเครื่องบูชาของประเทศอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือศาสนาอื่นอย่างคริสตจักรโรมันคาทอลิก ศาสนาอิสลาม ก็มีลักษณะคล้ายคลึงไปในทางเดียวกัน คือประกอบด้วย
1. สิ่งซึ่งให้แสงสว่าง ใช้เทียน ตะเกียง หรือโคม อย่างใดอย่างหนึ่ง
2. สิ่งซึ่งเผาให้เกิดควันดับโสโครก ใช้ธูป เนื้อไม้ หรือกำยาน อย่างใดอย่างหนึ่ง
3. สิ่งซึ่งให้เกิดกลิ่นประทินหอม ใช้ดอกไม้ หรือข้าวตอก อย่างใดอย่างหนึ่ง
-----------------------------------------------------
เครื่องบูชาที่ใช้ในประเทศสยาม
เครื่องบูชาที่ใช้ในประเทศสยาม มีลักษณะต่างกัน 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องบูชาอย่างไทย เครื่องบูชาอย่างไทยแกมจีน หรือ ม้าหมู่ และเครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทย หรือ โต๊ะจีน
เครื่องบูชาอย่างไทย ซึ่งใช้กันอยู่ ได้แก่
1. เครื่องนมัสการของหลวง เรียกว่าเครื่องทองทิศ ซึ่งใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบูชาพระรัตนตรัยในงานพระราชพิธี มีเตียงทองตั้งเชิงเทียนแถวหนึ่ง 5 เชิง เชิงธูปแถวหนึ่ง 5 เชิง พานข้าวตอกแถวหนึ่ง 5 พาน พานดอกไม้แถวหนึ่ง 5 พาน
2. เครื่องห้า สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบูชาเวลาทรงสดับพระธรรมเทศนา มีเชิงเทียน 2 กระถางปักธูป 1 กรวยปักดอกไม้ 5 กรวย ตั้งในพานทองลงยาราชาวดี
3. เครื่องทองน้อย สำหรับพระมหากษัตริย์บูชาเฉพาะอย่าง เช่น พระบรมอัฐิ มีเชิงเทียน 1 เชิงธูป 1 กรวยปักดอกไม้ 3 กรวย ตั้งในพานทองลงยาราชาวดี
ส่วนเครื่องบูชาซึ่งเป็นอย่างย่อลงมาจาก 3 ประเภท เฉพาะที่นิยมใช้กัน ได้แก่
1. กระบะเครื่องนมัสการ มีแต่ของหลวงใช้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย มีกระบะเชิงถมยาหรือประดับมุก โดยจัดตั้งเครื่องเหมือนอย่างเครื่องทองทิศที่ได้กล่าวมา แต่เป็นขนาดย่อมลง ตามวังเจ้านายผู้ใหญ่ก็ใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยในงานต่าง ๆ
2. กระบะเครื่องห้า มีของหลวงสำหรับบูชาพระธรรม ตั้งที่เตียงสวด และถ้ามีพระราชพิธี พิธี หรืองานในวังและบ้านขุนนางผู้ใหญ่มักใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย สำหรับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จะใช้กระบะเชิงประดับมุก ของขุนนางจะใช้กระบะประดับมุกแกมเบื้อ ในกระบะเครื่องห้า แถวหน้าตั้งเชิงเทียน 5 เชิง ตรงกลางตั้งเชิงธูป 1 เชิงแถวในตั้งพานดอกไม้ 5 พาน
3. เครื่องบูชาอย่างน้อย มีเชิงเทียน 1 เชิง เชิงธูป 1 เชิง พานหรือถ้วยใส่ดอกไม้ 2 พาน
ถ้าเป็นพระภิกษุใช้กระบะเชิงอย่างเล็ก เช่น ถวายในบริขารบวชนาคและบริขารกฐิน พระภิกษุมักใช้เครื่องบูชาอย่างนี้เมื่อนั่งวิปัสสนา จึงเรียกกันอีกอย่างว่า “เครื่องบูชาวิปัสสนา” ถ้าเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ทางฝ่ายคฤหัสถ์ เครื่องรองมักใช้พาน
เครื่องนมัสการทองทิศของหลวง
เครื่องบูชาวิปัสสนา (ซ้าย) เครื่องทองน้อย (ขวา)
(ซ้าย) ม้าหมู่ขนาดใหญ่ สำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
(ขวา) ม้าหมู่ขนาดน้อย สำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
โต๊ะเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ในหอพระสุลาลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ถ่ายครั้งสมัยรัชกาลที่ 5
เครื่องบูชาอย่างไทยแกมจีน
เหตุที่เรียกเครื่องบูชาอย่างนี้ว่า “ไทยแกมจีน” หรือที่เรียกว่า เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ เพราะความคิดที่จัดเป็นเครื่องบูชาเป็นความคิดอย่างไทย แต่กระบวนการที่จัดเอาอย่างมาจากจีน โดยประยุกต์เอาเครื่องเรือนอย่างจีน หรือที่เรียกว่า “ลายฮ่อ” และลายแจกัน เครื่องถ้วยชามอย่างจีน เรียกว่า “ลายปักโก๊” ที่สวยงามมาใช้
ตามตำนานกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง (ตรงบริเวณสวนศิวาลัยในปัจจุบัน) ซึ่งในช่วงนั้นราชทูตไทยเดินทางไปเมืองปักกิ่งและได้เครื่องแต่งเรือนอย่างจีนกลับมาจัดและตกแต่งพระตำหนักในสวนขวาและเกิดความนิยมกันมากขึ้น จนเมื่อ พ.ศ.2391 ในรัชกาลที่ 3 มีการฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างม้าหมู่ขึ้น โดยดัดแปลงตามเครื่องฮ่อ ใช้สำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถ เป็นม้าหมู่ขนาดใหญ่ และสำหรับตั้งเครื่องบูชาที่ตั้งประจำวิหารทิศ เป็นม้าหมู่ขนาดน้อย ต่อมาจึงนิยมเอาแบบอย่าง ได้จัดโต๊ะเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่สำหรับใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปและมีโต๊ะประกอบที่ตั้งเครื่องบูชา ในการทำบุญโอกาสต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายในสมัยนั้น
เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ที่ใช้สำหรับเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปประกอบเครื่องบูชา หรือใช้เป็นเครื่องประดับ จะต้องถือว่าที่ตั้งพระเป็นสำคัญ เหลือพื้นที่เท่าไหร่จึงจัดเครื่องบูชาเข้าตั้งประกอบ คือ เชิงเทียนและเครื่องปักดอกไม้ เป็นต้น กรณีการตั้งเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่เป็นเครื่องประดับมีเกณฑ์การพิจารณาในการประกวด ได้แก่ ความสะอาด ความประณีตสวยงามในการจัดเรียงม้าหมู่ เครื่องบูชาที่ตั้งบนม้าหมู่จะใช้เครื่องแก้ว เครื่องถ้วย เครื่องโลหะ หรือทำด้วยสิ่งใดก็ได้ แต่ต้องดูความสวยงามเหมาะสม การจัดเครื่องบูชาบนม้าหมู่ต้องจัดให้ได้ช่องไฟและเห็นของเล็กของใหญ่ได้ถนัด แม้ในเวลากลางคืนก็ต้องให้แสงไฟส่องสว่างทั่วม้าหมู่และเห็นลายเครื่องใช้สวยงาม ของหลักที่ต้องมี คือ เทียน ธูป ดอกไม้ ส่วนสิ่งของอื่น ๆ เช่น ผลไม้ ให้เห็นตามสมควรแต่มีข้อห้ามตามตำราหลวงไม่ให้ใช้ดอกไม้หรือผลไม้ซึ่งมีกลิ่นแรง
เครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทย
เหตุที่เรียกเครื่องบูชาอย่างนี้ว่า “จีนแกมไทย” หรือที่เรียกว่า เครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน เพราะเป็นแบบเครื่องบูชาของจีนและไทยเอามาคิดประกอบกัน ดัดแปลงใช้ตั้งเป็นอย่างเครื่องบูชาไทยไม่เหมือนกับที่จีนตั้ง
เครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน ใช้ตั้งบนโต๊ะสูง แบ่งเป็น 2 โต๊ะต่างกัน คือ โต๊ะเครื่องบูชา 1 โต๊ะ โต๊ะเครื่องเซ่น 1 โต๊ะ ตั้งด้วยกันบ้าง ตั้งแยกกันบ้าง โต๊ะเครื่องบูชานั้นเป็นโต๊ะแดงยาวและสูงกว่าโต๊ะเครื่องเซ่น ไทยเรียกว่าโต๊ะขวางหลัง บนโต๊ะเครื่องบูชาตามแบบจีนตั้งของ 5 สิ่ง คือ เชิงเทียน 1 คู่ แจกันสำหรับปักดอกไม้ 1 คู่ กระถางสำหรับเผาเครื่องหอมให้เป็นควัน 1 ใบ เรียกรวมกันว่า โหงวใส่
โต๊ะเครื่องเซ่นนั้นไทยเราเรียกว่า โต๊ะหน้า เป็นโต๊ะสี่เหลี่ยมเตี้ยกว่าโต๊ะขวางหลัง แถวหน้าตั้งเครื่องบูชาอย่างน้อย ไทยเราเรียกว่า เครื่องหน้า มีเชิงเทียน 1 คู่ ขวดปักดอกไม้ 1 คู่ ชามลูกไม้ 1 เป็นคู่กัน กระถางเผาเครื่องหอมหนึ่งใบ กลางโต๊ะตั้งเครื่องเซ่นมีของตามแต่จะจัด ข้างในตั้งกระถางธูปปักธูปดอกใหญ่ เป็นเครื่องหมายเชิญผู้นั้นมารับเครื่องเซ่น โต๊ะเครื่องเซ่นมีอีกรูปแบบหนึ่งใช้สำหรับพิธีที่มีพระสวดมนต์ คล้ายๆ พระญวนทำกงเต็ก ตั้งลับแลหรือพระพุทธรูปกับขวดปักดอกไม้ไว้แถวหลัง ถัดออกมาหน้าลับแลตั้งเครื่องหน้า เหลือชานโต๊ะตอนหน้าไว้สำหรับวางหนังสือสวดมนต์และเครื่องเคาะ เครื่องโขกสำหรับให้เสียงเป็นสัญญาณ โต๊ะอย่างนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โต๊ะโขก”
โต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีน ซึ่งมาจัดเป็นอย่างไทย เริ่มมีขึ้นเมื่อครั้งฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พ.ศ.2391 ในคราวเดียวกับที่มีเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ ภายหลังเมื่อเกิดความนิยมอย่างมาก พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก ต้นสกุล โชติพุกกณะ) จึงทูลขอให้กรมขุนราชสีหวิกรมทรงทำแบบอย่าง แล้วสั่งเครื่องโต๊ะเข้ามาขายเป็นชุด ๆ เรียกว่า “โต๊ะกิมตึ๋ง” ตั้งแต่นั้นมาการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทยกลายเป็นแบบแผนและใช้เครื่องถ้วยมาจนถึงทุกวันนี้
โต๊ะเครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน
โต๊ะกิมตึ๋ง
ตัวอย่างโต๊ะเครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำหรับพระมหากษัตริย์
ผ้าหน้าโต๊ะใช้ลายมังกร ขุนนางฝ่ายทหาร ผ้าหน้าโต๊ะใช้ลายสัตว์สี่เท้า ขุนนางฝ่ายพลเรือน ผ้าหน้าโต๊ะใช้ลายสัตว์สองเท้า
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเครื่องอย่างโต๊ะจีน เมื่อมีงานหลวงก็ทรงให้จัดตั้งโต๊ะเครื่องบูชาประกวดอยู่บ่อยครั้ง และทรงมีพระราชดำริตั้งแบบแผนเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง มีรายละเอียดในหนังสือ “ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ใน พ.ศ.2460
เกณฑ์การพิจารณาในการประกวด ได้แก่ เครื่องบูชาที่ตั้งเป็นของเก่าของงามประกอบกันถือว่าดีกว่าของใหม่หรือของเก่าแต่ไม่งาม ควรตั้งเครื่องบูชาประเภทเดียวกันหรือลายเดียวกันทั้งโต๊ะ ถ้าตั้งลายต่างกัน เรียกว่า จับฉ่าย ก็ได้ แต่ก็ต้องต่างกันหมดทั้งโต๊ะ ผ่อนให้ซ้ำกันได้เพียงลายละ 2 ชิ้น เครื่องบูชาต้องไม่ขาดธูปเทียน และต้องไม่ขาด “ชิ้นหลักโต๊ะ” กับทั้งต้องเลี่ยม ต้องมีกี๋หย่องรอง ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 5 มีช่องไฟให้เห็นเครื่องบูชาชัดไม่บังกัน และจัดให้สวยงาม เหมาะสม
ชิ้นที่ต้องมีเป็นหลักของโต๊ะเครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2471
โต๊ะเครื่องบูชาขนาดใหญ่ แบบหลวง ในรัชกาลที่ 5
----------------------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง นางสาวดุษฎี ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ
คณะทำงานองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
อ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ ศธ 0701.48/207 เรื่อง เทศกาลเข้าพรรษา (พ.ศ. 2510)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ ศธ 0701.48/484 เรื่อง ศิลปากรเปิดกรุมหาสมบัติเปิดให้ชมรับเข้าพรรษา (พ.ศ. 2518)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สบ 2.56/19 เรื่อง ตำนานเครื่องบูชา (27 มิ.ย. – 29 ก.ค. 2471)
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. อธิบายเครื่องบูชา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2473. (หจช.น.2/565)
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. อธิบายเครื่องบูชา กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2471. (หจช.น.2/1092)
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. อธิบายเครื่องบูชาและตำนานโต๊ะเครื่องบูชา พระนคร : โรงพิมพ์
รุ่งเรืองธรรม, พ.ศ. 2505. (หจช.น.2/1373)
ภาพ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ (2) ภ 004 หวญ 52/1 ภาพโต๊ะเครื่องบูชาต่าง ๆ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพแยกจากเอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภ 004.5/4 ภาพชุดการจัดเครื่องบูชาในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2470
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพแยกจากเอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภ 004.5/5 ภาพชุดการจัดโต๊ะบูชาแบบจีน และภาพแจกันปักดอกไม้ลายปักโก๊ (พ.ศ. 2471)
สํานักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
#องค์ความรู้จากจดหมายเหตุ