สยามมกุฎราชกุมาร: สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
เผยแพร่เมื่อ: 22 ก.ค. 64จำนวนผู้เข้าชม:15258

 

ตอนที่ 1 สยามมกุฎราชกุมาร: สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

1.3 เสด็จสวรรคต

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคต เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช 1256 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2437 พระชนมายุเพียง 16 พรรษา 6 เดือน 7 วัน จึงสร้างความทุกข์โทมนัสแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวียิ่ง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่า

“...ลูกชายอันเป็นที่รักยิ่ง เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร อันฉันได้ตั้งใจประคับประคองป้องกันทำนุบำรุงมาโดยลำดับ จนถึงได้ตั้งแต่งไว้ในที่สำคัญเช่นนี้ มามีอันตรายโดยเร็วพลัน ให้ยังเกิดทุกข์โทมนัสอันแรงกล้า ในเวลาเมื่อกำลังที่จะเจริญด้วยไวยแลอายุ ทั้งความรู้ที่ได้เล่าเรียนอันเป็นที่มั่นหมายใจว่าคงจะเปนผู้ที่มีความรู้แลอัธยาไศรยสามารถอาจจะปกป้องวงษ์ตระกูลสืบไว้ การซึ่งได้คิดได้จัดเพื่อจะให้เปนความเจริญแก่ลูกอันเปนที่รัก กับทั้งหวังว่าจะให้เปนประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง โดยที่จะให้เปนผู้อุดหนุนแลป้องกันอันตราย มาลี้ลับดับไปโดยเร็วพลันเช่นนี้ จึ่งเปนที่ทุกข์ร้อนอันยิ่งใหญ่ ไม่สามารถที่จะพรรณาได้...”


เรื่อง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ให้ไว้ทุกข์ 1 เดือน และให้จัดการพระราชกุศลสัตมวาร คือให้มีการพระราชกุศลทุก ๆ 7 วัน นับแต่วันสวรรคต ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 10 และ 11 มกราคม

ครั้งที่ 2 วันที่ 18 มกราคม

ครั้งที่ 3 วันที่ 24 มกราคม

ครั้งที่ 4 วันที่ 31 มกราคม

โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย เสด็จออกในทั้ง 4 ครั้ง ต่อมา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2437 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 50 วัน แห่งการเสด็จสวรรคต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชกุศล โดยให้พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายสวดพระพุทธมนต์ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายสวดพระพุทธมนต์ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พระสงฆ์คณะมหานิกายสวดพระพุทธมนต์ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และบรรพชิตญวนจีนสวดตั้งแต่ค่ำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึงเย็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสวดข้ามสะพาน และวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2438 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 100 วัน ในการเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชกุศล ตั้งแต่วันที่ 15 - 18 เมษายน พร้อมการฉลองพระพุทธรูปประจำวันพระชนมพรรษาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งได้หล่อไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมาด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชคำนึงถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และมีพระราชดำริที่จะเฉลิมพระเกียรติยศโดยการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกเฉพาะการพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการบำเพ็ญพระราชกุศลมฤตกวัตร อันเป็นการพระราชกุศลพิเศษต่อจากการบำเพ็ญพระราชกุศลในสมัยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตล่วงมาบรรจบรอบ 100 วัน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2438

พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แต่งพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร โดยตั้งริ้วขบวนอัญเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมาประดิษฐานบนพระเบญจาแว่นฟ้าทองคำภายใต้พระเศวตรฉัตร 7 ชั้น ประดับเครื่องสูงบังแทรกชุมสายตามพระเกียรติยศ ณ พระเมรุพิมาน วัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อวันที่ 22 มกราคม มีการมหรสพสมโภช 2 วัน 2 คืน แล้วจึงพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ในวันพฤหัสบดี ที่ 24 มกราคม ต่อมา วันศุกร์ ที่ 25 มกราคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเก็บพระบรมอัฐิลงพระโกศทองคำลงยาราชาวดีและประดิษฐานสมโภชที่พระเมรุพิมาน แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระผอบบรรจุพระราชสรีรางคารอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม


พระโกศทรงพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ประดิษฐานบนเบญจาแว่นฟ้าทองคำ ณ พระเมรุพิมาน (พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส) ภายใต้พระเศวตฉัตร 7 ชั้น
(22 มกราคม 2443)


พระโกศทรงพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ประดิษฐานบนพระเมรุมณฑป ประดับด้วยเครื่องสูงและดอกไม้สด

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สวรรคตกะทันหันเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ด้วยทรงเล็งเห็นปัญหาในการสืบราชสันตติวงศ์ ประกอบกับเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการน้อยใหญ่ได้กราบบังคมทูลให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้น สามารถติดตามเรื่องราวของสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่สองต่อได้ใน สยามมกุฎราชกุมาร ตอนที่ 2 ในสัปดาห์หน้า ทางเพจสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ผู้เรียบเรียง นางสาวณัฏฐา กล้าหาญ นักจดหมายเหตุชำนาญการ และนางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ

คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

----------------------------------------------

อ้างอิง

คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. พระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2561.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 แผ่นที่ 41 วันที่ 6 มกราคม รัตนโกสินทรศก 113 หน้า 328 เรื่องประกาศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สวรรคต.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 แผ่นที่ 49 วันที่ 3 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 113 หน้า 447 - 448 เรื่องการพระราชกุศลในการที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเสด็จสวรรคตล่วงมาบรรจบ 50 วัน.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 12 แผ่นที่ 3 วันที่ 21 เมษายน รัตนโกสินทรศก 114 หน้า 20 - 21 เรื่องการพระราชกุศลในการที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จสวรรคตล่วงมาบรรจบรอบ 100 วัน.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 12 แผ่นที่ 3 วันที่ 21 เมษายน รัตนโกสินทรศก 114 หน้า 21 - 22 เรื่องการบำเพ็ญพระราชกุศลมฤตกวัตร.

สมุดภาพจดหมายเหตุงานพระเมรุมาศและงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2560.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงวัง ร.5ว 13/3 เรื่องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศร์สวรรคต (7 ม.ค. 113 - 5 พ.ค. 114)

ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.003 หวญ.36/4ข ภาพพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร.

#องค์ความรู้จากจดหมายเหตุ